วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กิเลสเที่ยง หรือความดับเที่ยง?

ผู้มีมิจฉาทิฐิท่องไปในความเที่ยง ไม่หลุดพ้นวังวนแห่งความเที่ยงออกมาได้ ย่อมมีกระแสความคิด ตรึกไปเช่นนี้ว่า “กิเลสเที่ยงหนอ” ดังนี้ เราจึงต้องกระทำการดับ, การละ, การตัด ฯลฯ ซึ่งกิเลสนั้น ด้วยว่ากิเลสนั้นเที่ยง ไม่อาจดับสูญ จึงมีทิฐิว่าจะต้องกระทำกรรมใดๆ เพื่อเป็นไปตามประสงค์อันเกิดขึ้นจาก “ความคิดปรุงแต่ง” ดังกล่าวนานัปการนั้น



ผู้มีสัมมาทิฐิหลุดพ้นแล้วจากความเที่ยง ไม่หลงวนจมปลักในความเที่ยงนั้น ย่อมมีกระแสความคิด ตรึกไปเช่นนี้ว่า “แม้กิเลสก็ไม่เที่ยงหนอ” พระศาสดาแสดงธรรมอันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นสัจธรรมแท้มิต้องปรุงแต่งใดๆ เพิ่มเติม มิต้องกระทำกรรมใดๆ สืบต่อไปอีก “กิจจบแล้วหนอ, พรหมจรรย์สิ้นแล้วหนอ" มิได้มีประสงค์ใด หรือความคิดปรุงแต่งใดๆ หลังสดับธรรมนั้นอีก


ผู้มิได้สดับฟังธรรมแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่อาจมีปัญญาสว่างชัดว่าแม้กิเลสก็ไม่เที่ยง ทั้งยังไม่เกิดความคิดขึ้นว่า “ตนจักต้องกระทำการดับหรือตัดกิเลส” ย่อมไม่เคยได้สดับแม้คำว่า “กิเลส” ก็ดี, “ความเที่ยง-ไม่เที่ยง” ก็ดี ฯลฯ เขาย่อมแตกต่างจากบุคคลทั้งสองดังกล่าวข้างต้น แม้ไม่เคยสดับฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมกระทำกรรมดังเดิม มิได้ “กระทำกรรมใหม่” เพื่อความดับ, การตัด, หรือความสิ้นไปแห่งกิเลสแต่ประการใด


เช่นนี้แลท่านทั้งหลาย พึงพิจารณาเองว่า “กิเลสเที่ยงหรือ?” ... (๑)


ผู้มีมิจฉาทิฐิว่า “ความดับเที่ยง” ไม่หลุดพ้นวังวนแห่งความเที่ยงออกมาได้ ย่อมมีกระแสความคิด ตรึกไปเช่นนี้ว่า “ความดับแห่งกิเลสนี้เที่ยงหนอ” ดังนี้ เราจึงถึงซึ่งความเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยการละ, การตัด, การดับไปซึ่งกิเลสนั้น ด้วยว่าความดับแห่งกิเลสนั้นเที่ยง ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีก จึงมีทิฐิว่า “จิตอรหันต์นี้เที่ยงหนอ” ความผ่องใสแห่งจิตนี้เที่ยงหนอ, ความไร้กิเลสนี้เที่ยงหนอ “จิตอรหันต์” นี้เที่ยงหนอ มีลักษณะเที่ยงดังนี้ เป็นเช่นนี้ ดังนี้เองหนอ ...


ผู้มีสัมมาทิฐิหลุดพ้นแล้วจากทิฐิว่า “ความดับเที่ยง” ไม่หลงวนจมปลักในความดับเที่ยงนั้น ย่อมมีกระแสความคิด ตรึกไปเช่นนี้ว่า “แม้ความดับแห่งกิเลสก็ไม่เที่ยงหนอ” เมื่อใดมีดับ เมื่อนั้นมีเกิด, เมื่อใดมีเกิด เมื่อนั้นมีดับ ไม่เกิด ไม่ดับ มีเพียงนิพพาน จึงมีทิฐิว่า “จิตอรหันต์นี้ก็ไม่เที่ยงหนอ” จิตอรหันต์นี้ มิใช่นิพพานหนอ จิตอรหันต์นี้มิใช่ธรรมให้ยึดมั่นได้หนอ ...


ผู้มิได้สดับฟังธรรมแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่อาจมีปัญญาสว่างชัดว่าแม้ความดับแห่งกิเลสก็ไม่เที่ยง ทั้งยังไม่เกิดความคิดขึ้นว่า “จิตอรหันต์เป็นเช่นนั้น เป็นเช่นนี้” ย่อมไม่เคยได้สดับแม้คำว่า “จิตอรหันต์” ก็ดี, “ความดับไปแห่งกิเลส” ก็ดี ฯลฯ เขาย่อมแตกต่างจากบุคคลทั้งสองดังกล่าวข้างต้น แม้ไม่เคยสดับฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมกระทำกรรมดังเดิม มิได้ “เกิดความรู้ใหม่” ว่าจิตอรหันต์นั้นเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เที่ยงแท้แน่นอน แต่ประการใด


เกิด-ดับ เป็นของคู่กัน เมื่อยังมีเกิด ก็ต้องมีดับ, 
เมื่อดับแล้ว ย่อมมีเกิด
เมื่อใดพ้นแล้วจาก “วังวนเกิด-ดับ” นั้น 
เกิด ย่อมไร้, ดับ ย่อมไม่มี
นั่นแหละ ธรรมที่เรียกว่า 
“ไม่เกิด ไม่ดับ นิพพาน ...”
เช่นนี้แล้ว “กิเลสจะดับเที่ยงได้อย่างไร?” ...(๒)

6 ความคิดเห็น:

  1. สมาธิย่อมเกิดอยู่บนความไม่เที่ยง
    สมาธิย่อมดับไป บนความไม่เที่ยง
    สมาธิย่อมเกิดดับไป เป็นมายาภาพ
    มิใช่เครื่องยึดมั่นถือมั่นได้
    บุคคลบรรลุธรรมได้เพียงขณิกสมาธิ


    พราหมณ์ฤษีเหล่าใดๆ ที่หลงวนในสมาธิ
    ยึดมั่นถือมั่นในสมาธิ ย่อมตรึกเช่นนี้ว่า
    ตนจะทรงสมาธิ, ตนจะทำสมาธิให้เที่ยง
    ตนจะไม่ให้สมาธิหมดสิ้นไป, ตัวตนของ
    ตนนี้แล กระทำ "สมาธิของตนให้เที่ยง"
    ให้ดำรง, ให้ทรงอยู่, ให้ไม่ดับสิ้นไป


    เมื่อสมาธิหมดไป พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย
    ย่อมเห็นแจ้งอย่างนี้ว่า "แม้สมาธิ ก็ไม่เที่ยง
    หนอ" มิใช่สิ่งยึดมั่นถือมั่นได้หนอ จิตย่อม
    ไถ่ถอนออกจาก "สมาธิสืบชาติภพ" อันเป็น
    "เครื่องดองจิต" ให้คง, ให้ดำรงอยู่ ในภาวะ
    ในภพแห่งความสงบเพลิดเพลินนนั้น ย่อม
    หลุดพ้นจากภพแห่งพรหม, ตาข่ายพรหมได้


    เมื่อสมาธิหมดไปแล้ว ไม่เที่ยง ขณิกสมาธิ
    เกิดได้อีก พระโยคาวจรเจ้า ย่อมแจ้งโดย
    ฉับพลันว่า "สมาธินี้มิใช่ธรรมอันต้องหล่อ
    เลี้ยง, มิใช่ธรรมที่ต้องเจริญ, มิใช่ธรรมอัน
    เป็นภาระให้แบกไว้, มิใช่ธรรมอันเที่ยงแท้
    ให้ยึดมั่นแต่อย่างใด" เช่นนี้ "กิจจบแล้ว
    พรหมจรรย์สิ้นแล้ว ภพต่อไปย่อมไม่มีอีก"

    ตอบลบ
  2. สมาธิย่อมเกิดขึ้น บนความไม่เที่ยงหนอ
    สมาธิย่อมคงอยู่ บนความไม่เที่ยงหนอ
    สมาธิย่อมดับไป บนความไม่เที่ยงหนอ


    สมาธินั้นย่อม เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไป
    บนความไม่เที่ยงหนอ เมื่อใดสมาธิดับ
    สิ้นหมดไป สมาธิรอบใหม่ ก็เกิดขึ้นได้
    ตามมา เพราะความไม่เที่ยงนั้น ...


    สมาธินั้นจึงเกิด ตามธรรมชาติ เป็นสัมมาสมาธิ
    สมาธินั้นจึงตั้งอยู่ ตามธรรมชาติ เป็นสัมมาสมาธิ
    สมาธินั้นจึงดัีบไป ตามธรรมชาติ เป็นสัมมาสมาธิ


    แล้วจักหา "ผู้ทำสมาธิ" ได้ที่ไหน?

    ตอบลบ
  3. พราหมณ์ผู้มี “จิตเอนเอียงไป” หนักทางสมาธิ
    ย่อมมิได้เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ ดุจเกวียนบรรทุกของหนัก
    เขาย่อมกระทำ “ความเพียรจม” ดุจล้อเกวียนที่จมปลักนั้น

    พระโยคาวจรเจ้าผู้เข้าถึงแล้วซึ่ง “สัมมาทิฐิ”
    ย่อมเริ่มต้นด้วยจิตอันเป็นกลาง เบาสบาย
    เขาย่อมมี “สัมมาวายามะ” อันไม่เพียรจม
    เจริญขึ้นเป็นลำดับไป จนถึง “สัมมาสมาธิ”
    ในท้ายที่สุด ย่อมเห็นแจ้งถึงที่สุดแห่งธรรม

    ท่านย่อมเห็นแจ้งชัดว่า “สมาธินั้น เกิดขึ้น
    ตั้งอยู่ และดับไป” เป็นรอบๆ เป็นวัฏจักร
    เป็น “ธรรมจักร” เช่นนี้ สมาธินั้นจึงเกิดขึ้น
    ตั้งอยู่ และดับไป “โดยธรรม” โดยมิต้องกระทำ
    เปล่าเลยจักหา “ผู้กระทำสมาธิ” ไปไยเล่า?

    ตอบลบ
  4. ....เมื่อบุคคลหลุดพ้นจาก “ความเพียรจม” แล้ว เป็นผู้ทำลายล้างความเพียรจมได้แล้ว จึงถึงซึ่ง “สัมมาวายามะ” มีความเพียรชอบด้วยอาการเป็นกลาง ไม่มาก ไม่น้อย เกินไป บุคคลพิจารณาเห็นแจ้งชัดถึง “ความไม่เที่ยงในการปฏิบัติ” ก็ดี, “ความไม่เที่ยงในสมาธิ” ก็ดี จึงมีสติตื่นแจ้งชัดแล้วปล่อยคลาย “ความยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติ, กรรมฐาน, สมาธิ, ฌานต่างๆ ฯลฯ” ด้วยเห็นความไม่เที่ยงในธรรมเหล่านั้น นั่นแล ได้ชื่อว่าผู้มี “สัมมาสติ” มีสติตื่นแจ้งตรงทาง เป็นกลางต่อธรรมทั้งหลาย ทั้งปวง ย่อมเห็น “สมาธิ” ก็ดี, “กรรมฐาน” ก็ดี, “การปฏิบัติ” นั้นก็ดี เป็นธรรมอันไม่เที่ยง เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไป เป็นธรรมดา รอบแล้ว รอบเล่า เช่น เห็นสมาธิ เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไป รอบแล้ว รอบเล่า เกิดแล้วดับ, ดับแล้วเกิดใหม่อีก วนเวียนเป็นวัฏจักร เป็นธรรมจักร เป็นธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นเอง ดังนี้ฯ ย่อมปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกรรมฐาน ก็ดี, สมาธิ ก็ดี, การปฏิบัติ ก็ดี, ความเป็นผู้ปฏิบัติ ก็ดี “สมาธิ” แบบกลางๆ เบาๆ บางๆ ไม่มาก ไม่ลึกเกินไป ย่อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำกรรมใดๆ เพื่อยังผลให้เป็นสมาธิเลย ก็ “สมาธิ” นั้นแล ท่านเรียกว่า “สัมมาสมาธิ” ...

    ตอบลบ
  5. กิเลสไม่เคยดับ ความยากก็ไม่มีวันสิ้นสุด จิตดับเท่านั้นถึงจะไม่รับรู้สีงใด แต่มันไม่เคยดับชักที่วนเวียนไปเดียวมันก็เต็มรอบอีกเป็นอย่างนี้เรื่อยๆไป แล้วเราจะไปดับมันได้อย่างไรในเมื่อเรายังมีจิตที่จะต้องจรไปจรมาตลอดเวลา เมื่อมันดับไม่ได้ก็ต้องเล่นกับกิเลสและความยากให้เป็น

    ตอบลบ
  6. รู้หลับรู้ตื่นเล่นคลื่นโต้ลม เป็นสมาธิเชิงรับ รับได้ทุกสถาณะ เหมื่อนเดียวหลับเดียวตื่นพร้อมรับเหตุการณ์ทุกเมื่อ
    เหนื่อยก็พักคิดจะเคียวก็คิดแคส ฮิ ฮิ อย่าเซ็งเป็ด

    ตอบลบ

เม้าท์ด้วยคน